ลูกมีเซ็กส์กับหมอนข้าง

เมื่อไม่นานมา นี้ ผมได้รับ E-mail จากคุณแม่ท่านหนึ่งเขียนมาปรึกษาปัญหาของลูก เป็นปัญหาซึ่งคุณพ่อคุณแม่หลายคนเคยพบเจอ คิดว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อื่น จึงขออนุญาตนำเรื่องมาตอบเป็นบทความครั้งนี้ให้ครับ

เรียน นพ. กมล ที่นับถือ

          ดิฉันมีบุตรชายคนเดียวอายุ 7 ขวบ อยู่กันเป็นครอบครัวเดี่ยว นานๆมีคุณย่า คุณยายมาอยู่ด้วยช่วงสั้นๆ ลูกจะค่อนข้างผูกพันกับคุณย่าเพราะเคยเลี้ยงมาตั้งแต่เล็กจนถึงประมาณ 2 ขวบ แถวๆ บ้านจะไม่มีเด็กในวัยเดียวกัน ลูกจึงชอบเล่นในบ้านเป็นส่วนใหญ่ ดิฉันกับสามีทำงานทั้งคู่ สามีดิฉันเป็นอาจารย์ ส่วนดิฉันทำงานเอกชน แต่อยู่ในสายวิชาชีพเดียวกัน สามีงานยุ่งแต่ก็สนิทกับลูกดี และเราสองคนอยู่ในวิชาชีพที่ค่อนข้างต้องทำงานนอกเวลา แต่เราจะผลัดกันดูแลลูกในวันที่อีกคนหนึ่งต้องทำงานนอกเวลา ดิฉันกับสามีก็รักกันดีมีทะเลาะกันบ้างแต่ไม่บ่อย ลูกชายดิฉันเป็นเด็กชอบซักชอบถาม ฉลาด เรียนเก่ง ไม่ค่อยซน ชอบอ่านหนังสือ ปรกติจะชอบอ่านหนังสืออยู่คนเดียวได้นานๆ โดยเฉพาะเวลาเข้าห้องน้ำ ดิฉันเห็นลูกชอบอ่านหนังสือก็เห็นเป็นเรื่องดีปล่อยให้ลูกอ่าน บาง ทีเห็นลูกอ่านหนังสือในห้องน้ำนานๆ ก็จะเรียกลูกบ้างแล้วบอกให้อาบน้ำเองเลย หลังๆ มาลูกขอแต่งตัวเอง และขอให้พ่อกับแม่ออกจากห้องขณะที่เขาแต่งตัว จนมาวันหนึ่งสามีดิฉันเห็นว่าลูกแต่งตัวนานจึงเดินขึ้นไปดู ก็พบว่าลูกกำลังนอนคร่อมอยู่กับหมอนข้างและทำท่าถูไถอวัยวะเพศกับหมอนอย่าง เร็วเหมือนกำลังมีเซ็กส์กับหมอนข้าง พอลูกทราบว่าคุณพ่อเห็นก็หยุดแล้วบอกคุณพ่อว่ากำลังเล่นแล้วต่อว่าพ่อยิ้มๆ ว่าแอบดูหรือ สามี ดิฉัน ก็ตกใจระคนแปลกใจที่ลูกรู้จักเรื่องนี้ตั้งแต่อายุ 7 ขวบ สามีไม่ได้ดุลูกและทำทุกอย่างเหมือนปรกติ พยายามตะล่อมถามลูกก็ไม่ได้คำตอบอะไรชัดเจน จากนั้นดิฉันกับสามีก็พยายามสังเกตพฤติกรรมลูกพร้อมๆ กับพยายามไม่ให้ลูกอยู่คนเดียวและพยายามเบี่ยงเบนความสนใจ และค่อยๆ กำจัดหมอนข้าง และหมอนขนาดใหญ่ๆ ออกจากบ้าน มีบางวันที่ลูกถามหาก็บอกว่าเอาไปซัก มีครั้งหนึ่งที่ลูกร้องไห้ถามหาหมอนข้างสามีเลยให้บอกลูกว่าหมอนขึ้นราสกปรก ใช้ไม่ได้แล้ว จากนั้นลูกก็ไม่ได้ถามถึงอีก จากการสังเกตพฤติกรรมลูกหลังจากทราบเรื่องจากสามีแล้ว ก็พบว่าลูกจะพยายามขออาบน้ำแต่งตัวเองโดยบอกว่าเพื่อแสดงว่าโตแล้ว (ซึ่งก่อนหน้าที่ดิฉันกับสามีจะรู้เรื่องนี้ลูกก็เคยขอแบบนี้ ดิฉันก็อนุญาต แต่พอเกิดปัญหาแล้วดิฉันก็ปฏิเสธลูก และให้เหตุผล ว่าลูกทำช้าเสียเวลา ลูกก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่ดิฉันก็รู้ว่าลูกไม่ค่อยชอบใจเท่าไหร่) พอดิฉันกับสามีไม่ค่อยเปิดโอกาสให้ลูกอยู่คนเดียว ลูกก็เหมือนจะรู้สึกได้ว่าพ่อกับแม่คงไม่ค่อยชอบกับการขี่หมอนของลูกเขาเลย พยายามแอบทำ แรกๆ คือหาช่วงเวลาที่พ่อแม่คลาดสายตา เช่น อาบน้ำ หรือไปหยิบของที่ต้องใช้เวลา โดยมีทั้งที่เห็นว่าลูกแอบทำจริงๆ และเห็นจากหลักฐาน คือผ้าคลุมเตียงยู่ยี่ และมีหมอนข้างวางอยู่ข้างบน หลังจากที่ดิฉันทราบก็พยายามกำจัดหมอนข้างออกจากบ้าน ลูกก็ปรับพฤติกรรมโดยใช้หมอนอิง หรือหมอนขนาดใหญ่ๆ แทนซึ่งดิฉันก็พยายามกำจัดออกไปอีก จากนั้นลูกก็เปลี่ยนเป็นใช้วิธีนอนคว่ำหน้าไปบนหมอนหนุนแล้วเสียดสีอวัยวะ เพศไปบนโซฟาพอดิฉันเห็นเขาก็หยุดแล้วก็บอกให้แม่ไปที่อื่น มีบางครั้งที่สามีดิฉันอาบน้ำให้ลูกเขาจะพยายามเล่นอวัยวะเพศให้สามีดิฉันดู สามีก็จะพยายามเบี่ยงเบนความสนใจเป็นอย่างอื่น ซึ่งตั้งแต่เฝ้าสังเกตลูกดิฉัน และสามีก็พยายามเบี่ยงเบนความสนใจลูก หากีฬาและกิจกรรมให้ลูก และไม่เคยดุลูกหรือพูดถึงเรื่องนี้ บางครั้งที่หากิจกรรมให้ลูกลูกจะบ่นว่าแม่ชอบบังคับ ลืมเรียนคุณหมอว่า ลูกดิฉันมีห้องนอนของตัวเอง แยกนอนมาตั้งแต่อายุ 5 ขวบโดยที่มีวันที่มานอนกับพ่อแม่สัปดาห์ละ 2-3 วัน จากวันที่เกิดเหตุการณ์จนถึงวันนี้เป็นเวลาประมาณ 1 เดือนไม่สังเกตเห็นอาการดังกล่าวอีก (เวลาอยู่บ้านเราพยายามไม่ให้ลูกคลาดสายตา ยกเว้นลูกเข้าห้องน้ำ) จากข้อมูลที่ดิฉันเขียนดิฉันใคร่ขอเรียนถามคุณหมอดังนี้

– สิ่งที่ลูกทำเป็นสิ่งที่ผิดปรกติสำหรับเด็กอายุ 7 ขวบหรือไม่คะ
– ดิฉันควรจะมี ปฎิกริยาอย่างไรต่อเรื่องนี้กับลูก ควรจะอธิบายให้ลูกเข้าใจว่าสิ่งที่ลูกทำเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมหรือเบี่ยงเบน ความสนใจไปเลยแบบที่กำลังทำอยู่ตอนนี้ ตอนนี้สามีกับดิฉันกังวลว่าลูกจะสับสนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาคืออะไร
– ขอคำแนะนำการปฏิบัติตัวและวิธีพูดกับลูกค่ะ
ขอรบกวนคุณหมอ ช่วยตอบด่วนด้วยนะคะ กรุณาตอบมาทางเมล์ของดิฉันและของสามี ด้วยค่ะเนื่องจากดิฉันไม่ได้ซื้อหนังสือทุกฉบับ และหากเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครองท่านอื่นก็นำไปลงหนังสือได้เลย ค่ะ ขอรบกวนคุณหมอแค่นี้ค่ะ

ขอแสดงความนับถือ
คุณแม่ลูกหนึ่ง

          พฤติกรรมที่คุณแม่เล่ามานั้นเป็นการกระตุ้นตัวเองของเด็ก (Self stimulation, Childhood masturbation) มัก เริ่มพบบ่อยในเด็กอายุ 3-4 ปี ขึ้นไป เนื่องจากปลายอวัยวะเพศชายของลูกเป็นจุดที่มีเส้นประสาทรับความรู้สึกมาก อาจเกิดจากความอยากรู้อยากเห็นในตอนแรก หรือบังเอิญไปสัมผัสหรือเสียดสีเข้าโดยไม่ตั้งใจก็ได้ครับ เมื่อ กระตุ้นแล้วเกิดความรู้สึกเข้า ก็เลยทำซ้ำๆ โดยไม่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกทางเพศนะครับ เหตุผลก็เพราะเด็ก ผู้ชายจะเริ่มเข้าวัยรุ่นเมื่ออายุ 9-14 ปี (อายุเฉลี่ยประมาณ 11 ปี 6 เดือน) สัญญาณแรกคือเสียงจะเริ่มแตก ส่วนเด็กผู้หญิงจะเริ่มเข้าวัยสาวเมื่ออายุประมาณ 8-13 ปี (อายุเฉลี่ย 10 ปี 6 เดือน) โดยสัญญาณแรกคือการเริ่มมีเต้านม

          สำหรับลูกชายของคุณแม่อายุเพิ่งจะ 7 ขวบ ยัง ไม่เข้าวัยรุ่น เด็กวัยนี้ยังไม่มีฮอร์โมนเพศออกมามากนัก จึงยังไม่ได้รับอิทธิพลจากฮอร์โมนเพศที่จะทำให้เกิดความรู้สึกทางเพศ ยังไม่มีความต้องการที่จะมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้การกระตุ้นตัวเองของเด็กอนุบาลหรือเด็กก่อนวัยรุ่นนั้น ถึงแม้จะมีการเกร็งตัว เกร็งขา หรือหน้าแดงๆ บ้าง
          แต่ไม่ใช่การถึงจุดสุดยอด และไม่มีการหลั่งน้ำอสุจิออกมาแบบผู้ใหญ่ ดัง นั้น จึงไม่ใช่ลักษณะการช่วยตัวเอง (masturbation) แบบของวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ ครับ คุณแม่จึงไม่ควรวิตกกังวลมากจนเกินไป ที่ไม่ดุว่า ลงโทษ นั้นก็ทำถูกต้องแล้วครับ

          ส่วนการที่ลูก จะพยายามขออาบน้ำแต่งตัวเองก็ไม่มีความจำเป็นต้องปฏิเสธลูก และให้เหตุผลว่าลูกทำช้าเสียเวลา เพราะพฤติกรรมดังกล่าวไม่ใช่ลักษณะของการช่วยตัวเองในห้องน้ำแบบวัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ และก็ไม่จำเป็นต้องอธิบายให้ลูกเข้าใจว่าสิ่งที่ลูกทำเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เพราะลูกยังเด็กเกินไปที่จะเข้าใจสิ่งที่ิเกิดขึ้นกับตัวเอง อาจกลายเป็นความรู้สึกผิดแทนก็ได้ (ยิ่งไปกันใหญ่) รวมถึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพยายามกำจัดหมอนข้างออกจากบ้าน นะครับเพราะเขาก็หาสิ่งอื่นทดแทนได้อยู่ดี เช่นหมอนอิง หรือขอบโซฟา อย่างที่คุณแม่เจอมาแล้ว ดังนั้น ควรใช้วิธีทักเตือนเบาๆ (ไม่ใช่ตะคอกนะครับ) อาจโดยการเรียกชื่อเขา และเบี่ยงเบนความสนใจ เช่นบอกว่า “(เรียกชื่อเขา) มาเล่นต่อเลโก้ (วาดภาพ อ่านหนังสือนิทาน กินขนม….และอื่นๆ) กับแม่ดีกว่า” หรือชวนทำกิจกรรมที่เขาชอบ โดยไม่จำเป็นต้องพูดหรืออธิบายใดๆ ทั้งสิ้น จุดสำคัญ คือ อย่าพยายามปล่อยให้เขาอยู่เหงาๆ ว่างๆ คนเดียว ต้องหากิจกรรมมาทำร่วมกับเขาครับ คุณพ่อคุณแม่อาจต้องใจเย็นนิดหนึ่ง รอให้พฤติกรรมนี้ค่อยๆ หายไปเอง อย่างที่คุณแม่เริ่มสังเกตว่าไม่เห็นอาการดังกล่าวอีกเป็นเวลาประมาณ 1 เดือนแล้ว แต่บางคนหายไปพักหนึ่ง ก็อาจจะมากระตุ้นตัวเองใหม่ ก็ให้ใช้ความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกับหลักการเดิม ปัญหาพฤติกรรมนี้ก็น่าจะค่อยๆ หายไปเองครับ

imageที่มา : นพ.กมล แสงทองศรีกมล
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ

Scroll to Top